ทีมนักวิเคราะห์ของ M Booster ได้เข้าอบรมกับ รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี (หมอเดว)
กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม
ซึ่งท่านได้พูดถึง
“9 รูปแบบครอบครัวเลี้ยงลูกผิดวิธี”
ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กให้ทางพวกเราได้ฟังกันค่ะ
เราจึงอยากถอดบทเรียนนั้นแล้วนำมาเขียนอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านกัน
9 รูปแบบพ่อแม่ที่ไม่ควรทำ!!
เป็นแบบไหนกันบ้าง
รูปแบบที่ 1 เลี้ยงปกป้องเกินไป
(Over Protection)
คือ พ่อแม่ที่คอยดูแลลูกคอยติดตามกำกับและปกป้องลูกมากเกินไป
โดยที่ลูกไม่ต้องรับผิดชอบอะไร
เช่น น้องเล่นของเล่น-พ่อแม่เก็บ
น้องทำการบ้านไม่ได้-พ่อแม่ทำแทน
จนเด็กขาดความรับผิดชอบ
ผลกระทบทำให้เด็กมีปัญหา
มี 2 แบบ คือ
แบบที่ 1 เด็กขาดความมั่นใจ ไม่เคยได้ลองทำเอง รับผิดชอบด้วยตัวเอง
และแบบที่ 2 เด็กกร่าง ใหญ่คับฟ้า (มีพฤติกรรมก้าวร้าว)
เพราะรู้ว่าถ้ามีปัญหาอะไรจะมีพ่อแม่มาคอยคุ้มครองจัดการปัญหาให้
ซึ่งมักเกิดกับเด็กที่มีครอบครัวมีรายได้ปานกลางถึงสูง
หรือครอบครัวที่ตามไปปกป้องลูกมากเกินไป
จนขาดความรับผิดชอบชั่วดี
#เลี้ยงปกป้องเกินไป
#เด็กขาดความมั่นใจ
#เด็กกร่าง
รูปแบบที่ 2 เลี้ยงอ้วน
(Over Feeding)
คือ เมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลา ก็ใช้วิธีเลี้ยงแบบตามใจ พ่อแม่ที่ซื้อหามาให้ลูกทุกอย่าง
เด็กมีของเล่นเยอะ จนไม่รู้จะเล่นอะไร
รวมไปถึง ของใช้ ของกิน
อยากเล่นอะไรก็เล่น อยากกินอะไรก็ได้กิน
ผลที่ตามมาคือ เด็กไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ตนเองได้
มีลักษณะเอาแต่ใจ อยากได้อยากมี
แต่ไม่เห็นคุณค่าของสิ่งของนั้นๆ
เพราะได้มาง่ายจนเกินไป
ซึ่งมักเกิดในครอบครัวที่ฟุ้งเฟ้อจนเกินไป
#เลี้ยงอ้วนเอาแต่ใจ
#เด็กเอาแต่ใจ
รูปแบบที่ 3 เลี้ยงหลายบ้านเกินไป
(Multiple Housing)
หมายถึง พ่อหรือแม่ มีการเปลี่ยนสถานที่ในการเลี้ยงลูกบ่อยๆ ค่ะ
เช่น วันจันทร์-ศุกร์อยู่บ้านนึง เสาร์-อาทิตย์ไปอยู่อีกบ้านนึง
ช่วงนี้อยู่บ้านพ่อ ช่วงนี้อยู่บ้านแม่
ช่วงนี้ให้ยายเลี้ยง
จนเด็กไม่สามารถสร้างความรู้สึกผูกพันมั่นคงกับสถานที่และผู้คนได้เลย
เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยเกินไป
เมื่อเด็กไม่รู้สึกผูกพัน หรือร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในครอบครัว
จะทำให้เด็กไม่รักถิ่นฐานของตนเอง
อาจทำให้เด็กไม่ไว้วางใจสิ่งแวดล้อมทั้งสถานที่และผู้คน และไม่รักชุมชน
ส่งผลต่อการไม่รักรากเหง้าของตนเองอีกด้วย
ปัจจุบันสถานที่พักอาศัยของชนชั้นกลาง หรือชนชั้นที่มีจะกิน มักเป็นครอบครัวที่มีหลายบ้าน
#เลี้ยงเด็กแบบอวดรวย
#เด็กขาดความผูกพัน
รูปแบบที่ 4 เลี้ยงประคบประหงม
(Munchausen Syndrome by Proxy)
ครอบครัวที่กังวลเรื่องสุขภาพของลูกมากเกินไป
เล่นอันนั้นก็ไม่ดี กินอันนี้ก็ไม่ได้
ห้ามลืมปิดแมส ต้องล้างมือตลอดเวลา
ทำอย่างนั้นอันตราย ทำแบบนี้ก็ห้าม
บางครั้งเกินความจำเป็นทางการแพทย์
ยอมให้ลูกเจ็บตัวด้วยความกังวลมากเกินไป
จนอาจทำให้ผลตรงกันข้าม คือ เด็กป่วยง่าย ร่างกายไม่แข็งแรง
หรือ เด็กย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล
#เลี้ยงแบบประคบประหงม
#เด็กป่วยง่าย
รูปแบบที่ 5 เลี้ยงแบบเร่งรัด
(Over-stimulation)
พ่อแม่ที่ผลักดันลูกเกินไป ต้องอ่านออกเขียนได้ก่อนเข้าอนุบาล
ต้องวาดรูปได้ ว่ายน้ำเป็น กีฬาดี วิชาการเลิศ
พยายามส่งเสริมให้ลูกเรียนกวดวิชามากเกินไป
คาดหวังกดดัน จนเกิดภาวะตึงเครียดในบ้าน
ซึ่งหากพ่อแม่เร่งรัดผลักดันลูกมากเกินไป
กดดันจนทำให้ลูกกลายเป็นเด็กที่ต่อต้าน ปฏิเสธพ่อแม่
ซึ่งสุดท้ายจะทำให้ความสัมพนธ์ของพ่อแม่ลูกเกิดการ Crack (ร้าว) กัน
#เลี้ยงแบบเร่งรัด
#เด็กต่อต้าน
รูปแบบที่ 6 เลี้ยงแบบสำลักความรัก
(Over Indulgence/Spoiled Child)
การเลี้ยงแบบสำลักความรัก จะทำให้เด็กกลายเป็นเด็กที่ถูกตามใจมากจนเกินไป (Spoiled Child)
เด็กกลุ่มนี้จะทำอะไรไม่ค่อยเป็น มีบุคลิกที่เงอะๆ งะๆ
ขาดความคิดสร้างสรรค์ เพราะถูกพ่อแม่ตามใจจนเคยตัว
สิ่งที่พบจากข่าวสังคมทั่วไป
กรณีของแม่ที่ตามป้อนข้าวลูกชั้น ม.1
ล่าสุดพบเด็กมหาวิทยาลัย ปี 3 ที่พ่อลาออกจากงานและไปซื้อคอนโดให้ลูกอยู่
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีผลการเรียนตก พ่อจะขอดูไปตารางการสอนของครู
แล้วก็ขออนุญาตเข้าไปสังเกตการณ์ว่า ครูสอนอย่างไร
ซึ่งจะเห็นได้ว่าครอบครัวที่สำลักความรักจนเกินไป
ล้วนแล้วมีปัญหาทั้งสิ้น
#เลี้ยงแบบสำลักความรัก
#เด็กเงอะงะไม่มั่นใจ
รูปแบบที่ 7 เลี้ยงขาดพื้นที่ส่วนตัว
(Parenting Enmeshment)
พ่อแม่กลุ่มนี้ เลี้ยงตัวติดลูกเกินไป
คอยจับตาติดตามกำกับลูก เหมือนเป็นเงาตามตัว
ลูกจะทำอะไรที่ไหนอย่างไรกับใครพ่อแม่ต้องรู้
ทั้งตอนที่อยู่ที่บ้านและนอกบ้าน
แม้จะมีห้องส่วนตัว สามารถเข้าห้องลูกเมื่อไรก็ได้
เป็นการรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวภายในบ้าน
ทำให้ลูกเกิดความเครียด เพราะไม่มีพื้นที่ส่วนตัว
#เลี้ยงขาดพื้นที่ส่วนตัว
#เด็กเกิดความเครียด
รูปแบบที่ 8 เลี้ยงเข้มงวดมากเกินไป
(Insular Family)
พ่อแม่ตีกรอบให้ลูกทำในสิ่งที่พ่อแม่คิดว่าดี
หรือ ครอบครัวที่มีความกังวล บางรายยอมให้ลูกติดเกมและเล่นอยู่ในบ้าน
ไม่เปิดโอกาสให้เด็กเจอโลกภายนอก
จนทำให้เด็กเป็นเด็กขี้กลัว
เพราะไม่มั่นใจว่านอกบ้านจะมีความปลอดภัยและไว้ใจได้หรือไม่
จึงให้อยู่แต่ในบ้าน
ทำให้เด็กขี้กลัวหวาดระแวง
เพราะเด็กไม่รู้ว่าอันนี้ทำแล้วจะโดนว่าโดนดุไหม ขาดประสบการณ์
และอาจหวาดระแวงกับสิ่งแวดล้อมได้
บางรายก็ทำให้เกิดบุคลิกภาพมีความหลากหลายทางเพศ
และเด็กขาดความมั่นใจในตนเอง
#เลี้ยงเข้มงวดมากเกินไป
#เด็กขี้กลัวหวาดระแวง
รูปแบบที่ 9 เลี้ยงอิสระไร้กฎเกณฑ์กติกา
(Boundaryless)
คือพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบอิสระ แบบไม่มีขอบเขตไม่มีกฏเกณฑ์
อยากทำอะไรก็คิดถึงแต่ตัวเองไม่สนใจคนอื่น
อาจขาด Sense of Property หรือไม่เข้าใจสิทธิและหน้าที่ของตน
ไม่เคารพกฏกติกา
อาจทำให้เด็กไม่สามารถอยู่ในสังคมได้
อาจเป็นเด็กสร้างปัญหาให้สังคม
มีปัญหาที่ไม่มีใครอยากยุ่งด้วย
ลักษณะเช่นนี้ สามารถทำให้ลูกเป็นคนขี้ขโมยได้ แม้ว่าครอบครัวจะมีฐานะดีก็ตาม
#เลี้ยงอิสระไร้กฎเกณฑ์กติกา
#เด็กสร้างปัญหาให้สังคม
ใน 9 รูปแบบนี้ ก็จะได้ทำให้คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง
นำไประวังและคอยเตือนตัวเองว่าอย่าทำตามรูปแบบที่ว่านี้
ไม่อย่างนั้นอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กๆ ได้
สำหรับการเลี้ยงลูกแล้ว
สิ่งที่น่ากลัว ก็คือ…
ความรัก ความหวังดี ที่ปราศจากความเข้าใจ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง :
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี
ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)